นิสัยไว้ตัวของน้องหมาชิสุ
ปกติเวลาเราเจอน้องหมาน่ารัก ตัวเล็ก ขนสวยๆ ก็จะอยากเดินเข้าไปจับทักทาย เลยเผลอยื่นมือไปหาโดยไม่เอะใจว่า เจ้าน้องหมาตัวเล็ก จะแยกเขี้ยวใส่ ... น้องหมาชิสุ ก็เป็นน้องหมาสายพันธุ์หนึ่งที่เวลาพริกเจอแล้วอยากเข้าไปทักทย แต่พอเข้าไปใกล้ๆ เท่านั้นแหละ เจ้าชิสุก็จะแยกเขี้ยว ขู่ในลำคอ หรือ หันมาจ้องจะงับมือ แทนที่จะกระดิกหางเล่น อย่างที่เราคิด ซึ่งพฤติกรรมไว้ตัว ไม่ชอบให้คนแปลกหน้าเข้ามาทำความรู้จัก หรือสัมผัสของน้องชิสุนี้เอง ที่ทำเอาหลายคนเข็ดขยาดไม่กล้าเข้าใกล้ ต้องนิ่งรอเชิงอยู่สักพัก ว่าจะจับดีไม่จับดี บางคนถึงขนาดไม่ชอบชิสุไปเลยก็มีค่ะ
เพื่อนๆ คงสงสัยเหมือนกับพริก (ที่เคยโดนน้องหมาชิสุแยกเขี้ยวใส่มาแล้ว) ใช่ไหมคะว่า ทำไมน้องหมาตัวเล็ก หน้าตาน่ารัก ตาโต จมูกรั้นเหล่านี้ถึงมีพฤติกรรมหวงตัว เสียเหลือเกิน แล้วพฤติกรรมเหล่านี้จะแก้ไขได้หรือไม่ มีวิธีการเข้าหาที่จะไม่ถูกแว้งกัดไหม ถ้าอยากรู้แล้ว เราไปค้นคำถามคาใจไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
พฤติกรรมไว้ตัวของน้องหมาชิสุมีสาเหตุมาจากอะไร
1. ปัจจัยจากลักษณะนิสัยตามพฤติกรรมของสายพันธุ์
- ชิสุนิสัยค่อนข้างเอาแต่ใจ ขี้รำคาญ
ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว น้องหมาชิสุเป็นน้องหมาที่เลี้ยงในพระราชวัง และเหล่าชนชั้นสูงของสังคมจีน ในวันๆ หนึ่งเจ้าชิสุก็จะนั่งตักเจ้านายที่รายล้อมด้วยข้าราชบริพาร มาถวายการรับใช้ มาโค้งคำนับ พลังงานที่ด้อยกว่าของคนเหล่านั้น ทำให้น้องหมาชิสุรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้นำ เป็นศูนย์กลางของจักรวาล แม้แต่เจ้านายยังตามใจ ประคบประหงม วิ่งไล่เล่นในสวนสวย พวกเขาจึงค่อนข้างภูมิใจในตัวเอง หยิ่ง เอาแต่ใจ และคิดว่าตัวเองเป็นใหญ่มากกว่าเจ้าของ หรือ คนอื่นๆ ในครอบครัว ใครมายุ่งวุ่นวายในขณะที่ตนเองไม่ต้องการก็จะหงุดหงิดไม่พอใจ แต่ถ้ามีอารมณ์อยากอยู่ใกล้ๆ หรือยากเล่นด้วยเมื่อไหร่ พวกเขาจะเดินเข้าไปหาเอง นิสัยแอบคล้ายแมวน้อยเอาแต่ใจมากๆ เลย
- ไม่ค่อยไว้ใจคนแปลกหน้า
น้องหมาชิสุแม้จะเคยอยู่ในพระราชวังแห่งจีนแผ่นดินใหญ่มาก่อน แต่ต้นกำเนิดที่แท้จริงของพวกเขาอยู่บนหลังคาโลกหรือทิเบต โดยมีหน้าที่เป็นเพื่อนและเป็นน้องหมาเฝ้าตรวจตราคนแปลกหน้าให้แก่บรรดาพระลามะทั้งหลาย ที่เข้ามาในสถานที่อันเงียบสงบ และด้วยสิ่งแวดล้อมห่างไกลจากผู้คน ไม่ค่อยมีโอกาสพบปะใคร วันๆ ได้แต่ เที่ยวเล่น เป็นมิตรอยู่แค่กับคนภายในครอบครัว จึงทำให้พวกเขาไม่คุ้นชินกับการเยี่ยมเยียนหรือการทักทายจากคนภายนอกนั่นเองค่ะ
- น้องหมาชิสุโลกส่วนตัวสูง
อย่างที่บอกไปนะคะว่า น้องหมาชิสุอยู่แต่ในวัดในวัง จึงค่อนข้างเป็นน้องหมาอารมณ์ศิลปิน เก็บตัว ชอบอยู่เงียบๆ ตามลำพัง ค่อยให้ใครมาวุ่นวาย ในขณะเดียวกันกับน้องหมาชิสุที่รักสงบและรักความเป็นส่วนตัว แต่กลับต้องมาอยู่ในสภาพที่เสียงดังวอแวจอแจด้วยผู้คนอย่างในตลาดขายสัตว์เลี้ยง หรืองานแฟร์เขาก็จะยิ่งรู้สึกเครียด หวาดระแวง และหงุดหงิดมากๆ และอาจจะมีพฤติกรรมร้าวได้เช่นเดียวกัน การให้น้องหมาชิสุอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อเขาและพาออกสังคมอย่างพอเพียงจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพวกเขาค่ะ
2. ปัจจัยที่มาจากการเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเล็ก
ถึงแม้น้องหมาชิสุจะเป็นน้องหมาโลกส่วนตัวสูงและค่อนข้างไว้ตัว แต่พวกเขาก็เป็นน้องหมาที่น่ารัก ใจดี เข้ากับคนได้ง่าย (เมื่อเขาเริ่มคุ้นเคย) ดังนั้นถ้าหากน้องหมาชิสุของเพื่อนๆ เกิดมีอาการก้าวร้าวมากกว่าแค่หวงตัวอาจจะต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมรวมทั้งพฤติกรรมการเลี้ยงของเราค่ะ
ส่วนมากผู้ที่เลี้ยงน้องหมาชิสุจะอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม อพาร์ตเม้นท์ ห้องแถว ร้านค้า หรือ บ้านทาวน์เฮาส์ ที่มีพื้นที่จำกัด น้องหมาชิสุจึงไม่ค่อยได้ออกไปไหนมาไหนสักเท่าไหร่ อยู่เล่นกับครอบครัวในบ้าน นานๆ จะได้ออกไปเที่ยวข้างนอกเสียที ซึ่งโดยลักษณะนิสัยตามสายพันธุ์ของน้องหมาชิสุปกติก็ค่อนข้างหวงเนื้อหวงตัวอยู่แล้ว ถ้าหากได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ก็จะยิ่งทำให้นิสัยฉุนเฉียวขี้ระแวงเพิ่มขึ้น เช่น การปล่อยให้น้องหมาเล่นกัดแขนกัดขาตอนยังเล็ก แกล้งทำให้หงุดหงิด ไม่ค่อยได้พาออกสังคม ออกกำลังกาย หรือฝึกวินัยก็จะยิ่งส่งผลให้เกิดพฤติกรรม โดยน้องหมาชิสุที่มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมก้าวร้าว ขู่คนแปลกหน้าหรือแม้กระทั่งเจ้าของ เมื่อตัวเองอารมณ์ไม่ดีได้อีกด้วยค่ะ
การแก้ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวของน้องหมาชิสุ
1. ฝึกให้น้องหมาชิสุรู้กฏระเบียบ และตำแหน่งในบ้านของตัวเอง
เวลาเราเลี้ยงน้องหมาตัวน้อย น่าตาน่ารัก ก็จะเห็นว่าพวกเขาเป็นลูก เป็นเพื่อนเล่น เป็นน้องในครอบครัว จนเผลอลืมไปว่าเขาเป็นน้องหมาควรมีกฏระเบียบรู้ที่ทางของตนเอง ยิ่งเป็นน้องหมาชิสุที่เอาแต่ใจตัวเอง เป็นศูนย์กลางจักรวาล ใครๆ ก็ต้องเอาใจ แถมหยิ่งนิดๆ จึงง่ายต่อการทำให้น้องหมาชิสุเสียนิสัย เห็นตัวเองเป็นเจ้านาย เป็นเจ้าของบ้าน ใครว่าอะไรก็ไม่ฟัง ดื้อสุดๆ และอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวได้ในเวลาต่อมาค่ะ
ดังนั้นเพื่อนๆ ควรฝึกให้พวกเขารู้ตำแหน่งของพวกเขาในครอบครัวนะคะ เช่น ให้นอนที่พื้น หรือที่นอนของตัวเอง เมื่อเรานั่งทำงาน เวลากินข้าวไม่ให้เข้ามายุ่ง จะเล่นได้ก็ต่อเมื่อเราเป็นคนชวนให้เล่น ไม่อนุญาตให้พวกเขาขึ้นไปนั่งบนโต๊ะ ถ้าเรานั่งที่เก้าอี้ เป็นต้นค่ะ ซึ่งในสังคมน้องหมาหมาตำแหน่งบนล่าง ก่อนหลัง เป็นการบอกสถานะว่าใครคือผู้นำ ถ้าไม่อยากให้น้องหมาชิสุเป็นใหญ่ในบ้านต้องรีบตัดไฟเสียแต่ต้นลมค่ะ
(อ่านเพิ่มเติมเรื่องการตั้งกฏระเบียบให้น้องหมาภายในบ้านได้ที่บทความ การฝึกน้องหมาให้รู้จักกฎระเบียบของบ้าน นะคะ)
2. ฝึกวินัย และฝึกให้เล่นอย่างถูกวิธี
การฝึกวินัยจำเป็นกับน้องหมาทุกตัว ถึงแม้จะเป็นน้องหมาตัวน้อยน่ารัก ขี้เล่น ขี้ประจบอย่างชิสุก็ไม่มียกเว้นค่ะ การฝึกจะช่วยให้น้องหมาชิสุซุกซนน้อยลง รู้สึกมั่นคงมากขึ้น จึงควรมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยน หรือบทลงโทษเมื่อไม่ทำตามคำสั่ง เช่น ในการฝึกน้องหมาไม่ให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว เราจะให้วิธีการชวนน้องหมาเล่นของเล่น เมื่อไหร่ที่เขาเริ่มใช้อารมณ์มากขึ้น เล่นรุนแรงมากขึ้น คาบของวิ่งหนี ล่อให้เราวิ่งตาม ต้องหยุดเล่นทันที เป็นการสร้างเงื่อไขให้เขาทำตามคำสั่งเราค่ะ เช่นเดียวกัน ถ้ามีการขู่ ก็ให้หยุดเล่น หรือ ไม่ให้รางวัลเพื่อเป็นการทำโทษ เนื่องจากการปล่อยให้น้องหมากัดแทะมือเล่น เป็นการกระตุ้นพฤติกรรมก้าวร้าวให้เกิดขึ้นรูปแบบหนึ่ง การฝึกให้เขาเล่นอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งจำเป็นควรหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด
ส่วนการทำโทษน้องหมาชิสุ ไม่ควรตวาดเสียง ดังหรือใช้กำลังโดยเด็ดขาดค่ะ เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้เขาอยากเอาชนะ ดื้อ ไม่ฟัง แถมยังป่วนให้ปวดหัวกว่าเดิม พวกเขาอีโก้สูงมากๆ ค่ะ การใช้เงื่อนไขแลกเปลี่ยนจึงเป็นวิธีการจัดการที่ดีที่สุด แล้วก็อย่าลืมชม ให้รางวัลเมื่อน้องหมาทำตามคำสั่งด้วยนะคะ ^^
3.พาไปออกกำลังกาย ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว
น้องหมาชิสุเป็นน้องหมาที่ชอบนอนอยู่เงียบๆ บทตักเจ้าของ หรือไม่ก็โซฟา แม้จะเป็นน้องหมาไม่ไฮเปอร์ สุดซน แต่การออกกำลังกายก็ยังสำคัญต่อพวกเขา จึงควรพาออกออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันประมาณ 15-30 นาทีเช้าและเย็น แต่จะดีมากๆ ถ้าพวกเขาได้เล่นเกมต่างๆ ร่วมกับครอบครัว เช่น ลูกบอลปี๊บๆ หรือไม่ก็ซ่อนแอบวิ่งไล่จับ เพื่อให้ได้ทั้งการออกกำลังกาย และการฝึกฟังคำสั่ง และฝึกวินัยไปในตัว เมื่อพลังงานมั่นคง ก็มีโอกาสไม่สบอารมณ์คนอื่นได้น้อยลงค่ะ
4.พาน้องหมาชิสุเข้าสังคม
การพาน้องหมาชิสุเข้าสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับปัญหานิสัยรักนวลสงวนตัวเกินเหตุ ผู้เลี้ยงจึงควรพาน้องหมาชิสุออกไปเดินเล่นนอกบ้าน พาไปเที่ยวเล่น ทำความรู้จักผู้คนหรือสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ ให้มากขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้นะคะ แรกๆ พวกเขาอาจตื่นตระหนก และเครียดเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า อาจมีหวั่นวิตก ขู่แยกเขี้ยวบ้าง แต่ไม่นานพวกเขาก็จะปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมเรื่องการฝึกให้ทำตามคำสั่งควบคู่ไปด้วยนะคะ เพื่อให้น้องหมาอยู่ในโอวาทของเราค่ะ